ขณะมารดาให้นมบุตรจะมีการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคตินจากต่อมใต้สมองซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ ดังนั้น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นการคุมกำเนิดหลังคลอดวิธีหนึ่ง แต่การคุมกำเนิดวิธีนี้จะมีประสิทธิภาพดีเฉพาะ ในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด และมารดาต้องไม่มีประจำเดือน  ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยาก  ดังนั้นจึงแนะนำให้มารดาคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย   ซึ่งการคุมกำเนิดที่สามารถเลือกใช้โดยไม่มีผลต่อการให้นมบุตรหรือสุขภาพของทารก มีดังนี้

 

  • การทำหมันหญิง
        คือ การผูกและตัดท่อนำไข่ทั้งสองข้าง  สามารถทำได้ตั้งแต่หลังคลอดใหม่ ๆ เรียกว่า การทำหมันเปียก และถ้าทำหมันในช่วงที่พ้นระยะหลังคลอดไปแล้ว เรียกว่า การทำหมันแห้ง        
  • Condom (ถุงยางอนามัย)
        เหมาะกับในรายที่ไม่ต้องการการใช้ฮอร์โมน มีเพศสัมพันธ์ ไม่บ่อย และต้องการคุมกำเนิดระยะสั้น
  • Progestin-only pill (ยากินชนิด ฮอร์โมนเดี่ยว)
        ยาคุมชนิดนี้สามารถรับประทานได้ในช่วงให้นมบุตรโดยที่ไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำนมและสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมได้อีกด้วย วิธีการการรับประทานเหมือนกับยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม แต่อาจมีผลข้างเคียงในเรื่องเลือดออกกระปริดกระปรอย ระหว่างการรับประทานได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการลืมกินหรือเปลี่ยนช่วงเวลากินบ่อยๆ ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ 1 แผงประกอบด้วยยา 28 เม็ด แนะนำในเริ่มกินในช่วงวันที่ 21-28 หลังคลอดบุตร แต่หากกินหลังจากนั้น สามารถกินได้แต่ช่วง 7 วันแรกที่กินยาคุมกำเนิดชนิดนี้ หากมีเพศสัมพันธ์แนะนำให้คุมกำเนิดโดยการใช้ถุงยางร่วมด้วย ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีโรคตับ โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ และโรคลิ่มเลือดอุดตันแบบเฉียบพลัน
  • ยาฉีดคุมกำเนิด (DMPA)
        มี 2 ชนิดคือ แบบ1 เข็มคุมกำเนิดได้ 3 เดือน และแบบที่ 2 คือ 1 เข็มคุมกำเนิดได้ 1 เดือน ยาคุมชนิดนี้สามารถรับได้ในช่วงให้นมบุตรโดยที่ไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำนม สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่ 6 สัปดาห์ภายหลังคลอดบุตร หรือ ภายใน 7 วันหลังมีรอบเดือนมา ข้อดีของการคุมกำเนิดแบบฉีดคือ ไม่มีปัญหาเรื่องการลืมกินยา คุมกำเนิดได้นานกว่ายาคุมชนิดกิน แต่อย่างไรก็ตามมีผลข้างเคียงคือ มีเลือดออกกระปริดกระปรอย หากใช้ไปนานๆจะทำให้ประจำเดือนไม่มา นอกจากมียังมีผลข้างเคียงทำให้มีน้ำหนักขึ้น มีฝ้า และหากใช้ในระยะยาวมีรายงานว่าทำให้ระดับคลอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในเลือดสูงขึ้นและมวลกระดูกบางลงได้ แต่อย่างไรก็ตามหากหยุดใช้มวลกระดูกที่บางลงสามารถกลับคืนมาได้
  • Implant (ยาฝังคุมกำเนิด)
        ยาคุมชนิดนี้ประกอบด้วยฮอร์โมน Progestin ชนิดเดียวดังนั้นจึงไม่ส่งผลต่อปริมาณน้ำนม ยาฝังคุมกำเนิดมี 2 ประเภท คือ 1. ชนิด 1 หลอด (Nexplanon) คุมกำเนิดได้ 3 ปี  และ 2. ชนิด 2 หลอด ( Jadelle) คุมกำเนิดได้ 5 ปี การฝังยาคุมจะฝังบริเวณท้องแขนด้านในเหนือข้อศอกเล็กน้อย ปกติแนะนำให้ฝังภายใน 5วันแรกของการมีประจำเดือน หรือภายใน 6 สัปดาห์หลังคลอด แต่ในกรณีที่เลย 6 สัปดาห์หลังคลอดแล้วแต่ประจำเดือน ยังไม่มา สามารถฝังยาคุมได้ แต่ควรตรวจการตั้งครรภ์ก่อนทุกครั้งและภายหลังฝัง 7 วันควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่นใส่ถุงยางร่วมด้วย หากต้องการมีเพศสัมพันธ์ การฝังยาคุมกำเนิด จะยังมีรอบเดือนมาตามปกติแต่อาจมาน้อยลงได้ และเมื่อครบกำหนดต้องมานำหลอดยาฝังออก
  • IUD (ห่วงคุมกำเนิด)
        ห่วงคุมกำเนิดในปัจจุบันมี 2 ชนิดคือ 1.ชนิดมีฮอร์โมน ( Levonogestrel IUD) : ห่วงคุมกำเนิดชนิดนี้สามารถคุมกำเนิดได้ 5 ปี 2.ห่วงคุมกำเนิดชนิด Copper (Copper IUD) : ห่วงคุมกำเนิดชนิดนี้สามารถคุมกำเนิดได้ 10 ปี โดยช่วงเวลาที่ปลอดภัยในการใส่ห่วงคุมเกิดหลังคลอด คือ อย่างน้อย 6 สัปดาห์หลังคลอดบุตร เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ให้เรียบร้อยก่อนและลดโอกาสการทะลุจากห่วงคุมกำเนิด ส่วนผลข้างเคียงจากการใส่ห่วงคุมกำเนิดที่พบบ่อยได้แก่ ตกขาวที่มากขึ้น  มีเลือดออกกระปริดกระปรอย ระหว่างรอบเดือน ประจำเดือนจะมาลดลง แต่การคุมกำเนิดชนิดนี้ไม่มีผลต่อปริมาณน้ำนม

     

     

สอบถามเพิมเติมได้ที่

รพ.พิษณุเวช อุตรดิตถ์

โทร. 055-40-9000