ไข้หูดับ

ลักษณะทั่วไป

     ไข้หูดับ หรือ โรคติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ชูอิส เกิดจากเชื้อ Streptococcus (S.) suis เป็นสาเหตุของภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด และการสูญเสียการได้ยิน

 

การติดต่อ

     สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยการรับประทานเนื้อสัตว์ดิบ และการสัมผัสสัตว์ป่วย ทำให้เชื้อเข้าทางบาดแผลตามร่างกาย หรือเข้าทางเยื่อบุตา เนื่องจากเชื้ออาศัยอยู่ในต่อมทอนซิล ทางเดินอาหาร ช่องคลอดและโพรงจมูกของหมู ผู้ที่ติดเชื้อจึงมักมีอาชีพเกี่ยวกับการเลี้ยงหมู ทำงานในโรงงานชำแหละหมู หรือผู้สัมผัสกับสารคัดหลั่งของหมู เช่น น้ำมูก น้ำลาย และผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้จำหน่าย หรือผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆดิบๆ เช่น ลาบหมูดิบ หรือหลู้ ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ S. suis พบได้ในทุกช่วงอายุแต่โดยทั่วไปจะพบในผู้ใหญ่ และพบในเพศชายสูงกว่าเพศหญิง

 

การก่อโรค

     เชื้อ S. suis มีมากกว่า 30 ซีโรทัยป์ แต่ที่พบมากที่สุดในการก่อให้เกิดโรคในคน คือ ซีโรทัยป์ 2 โดยประเทศไทย พบประมาณร้อยละ 90-95 รองลงมาคือ ซีโรทัยป์ 14 ประมาณร้อยละ 5 นอกจากนี้ ยังพบซีโรทัยป์อื่นที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในคนไทย ได้แก่ ซี่โรทัยป์ 9, 5, 24

 

ระยะฟักตัว

     ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1 – 14 วัน แต่มักมีอาการหลังรับเชื้อไม่เกิน 3 วัน

 

อาการ

     อาการที่พบ ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น หอบเหนื่อย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตจากภาวะ toxic shock syndrome ผู้ป่วยบางรายที่ไม่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะพบความพิการตามมา เช่น สูญเสียการทรงตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง และสูญเสียการได้ยิน จนถึงขั้นหูหนวก หรือที่เรียกว่า หูดับ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตเนื่องมาจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต

 

ระบาดวิทยา

     การรายงานผู้ป่วยติดเชื้อ S. suis เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเดนมาร์คในปี พ.ศ .2511 หลังจากนั้นก็พบผู้ป่วยติดเชื้อนี้จำนวนเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีการเลี้ยงหมูกันอย่างหนาแน่น ในช่วงฤดูร้อนของปี พ.ศ .2548 ได้มีการระบาดครั้งใหญ่ของการติดเชื้อ S. suis ในคน เกิดขึ้นในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน มีผู้ป่วยติดเชื้อ จำนวน 215 ราย เสียชีวิต 38 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติการสัมผัสกับหมูหรือเนื้อหมูที่ติดเชื้อ โดยอาการของผู้ป่วยที่พบจากการระบาดครั้งนี้ ได้แก่ การติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และภาวะช็อก (streptococcal toxic shock . syndrome) และ นอกจากการระบาดในครั้งนี้แล้ว ยังมีรายงานการติดเชื้อนี้ในคนอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเองก็พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อ S. suis เป็นจำนวนมาก และจากผลการสำรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ปี 2561 ทั่วประเทศ ยังคงพบมีการติดเชื้อ S. suis ซีโรทัยป์ 2 กระจายเกือบทุกภาค โดยเฉพาะภาคเหนือ

 

การป้องกัน

     หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อหมูดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ หมูป่วยหรือตายจากโรค การปรุงเนื้อหมูให้ปลอดภัยจากไข้หูดับ คือ หากผู้ปรุงมีแผลที่ผิวหนังต้องปิดแผล และสวมถุงมือขณะปรุง เลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสด และห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจเช็คมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ เนื้อยุบ ต้มด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเชลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาที หรือจนน้ำต้มไม่มีสีแดง นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับหมูที่คาดว่าจะเป็นพาหะ ซึ่งมักไม่แสดงอาการป่วย ควรสวมถุงมือ รองเท้าบู๊ต ในระหว่างการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับหมู ตลอดจนการรักษาความสะอาดหลังสัมผัสหมู

 

การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ

     ตัวอย่างที่ควรนำส่งตรวจ คือ เลือด น้ำไขสันหลัง น้ำเจาะจากรอยโรค เช่น น้ำเจาะข้อ น้ำจากช่องท้อง นำส่งห้องปฏิบัติการทันทีที่อุณหภูมิห้อง เพื่อการเพาะเชื้อ และทดสอบคุณสมบัติทางชีวเคมี หรือตัวอย่างเชื้อบริสุทธิ์บน Blood agar plate หรือ Blood agar slant เพื่อตรวจหาซีโรทัยป์ โดยวิธี multiplex PCR

     ติดต่อส่งตัวอย่างตรวจได้ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ เชียงใหม่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม

 

สอบถามเพิมเติมได้ที่

รพ.พิษณุเวช อุตรดิตถ์

โทร. 055-40-9000